หลายครั้งที่เมื่อพูดถึง ‘ปวยเล้ง’ จะมีบางคนคิดว่ามันคือผักโขม แต่บอกตรงนี้เลยว่า มันคือผักคนละชนิด เพียงแต่อยู่ในตระกูลเดียวกัน ให้คุณค่าสารอาหารใกล้เคียงกันแต่ไม่เหมือนกัน และชื่อเรียกในภาษาอังกฤษก็ต่างกัน
‘ปวยเล้ง’ คือ Spinach และ ‘ผักโขม’ คือ Amaranth โดยปวยเล้งมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแถบอาหรับซึ่งได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างสูงจนได้ชื่อว่าเป็น "ราชาแห่งผัก" ส่วนชื่อเรียกสไตล์จีนๆ นั้นได้มาจากการที่ปวยเล้งถูกบันทึกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นยุคที่มีการถวายเครื่องราชบรรณาการ โดยในประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า ผักปวยเล้งเป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณาการด้วย
ปวยเล้ง ผักดีมีประโยชน์ไม่แพ้ใคร
1. ปวยเล้งดีกับคนเป็นโรคทางสายตา อย่างโรคตาบอดกลางคืน, ต้อกระจก และอาการเพลียตาจากการใช้สายตามากๆ เพียงดื่มน้ำคั้นผักปวยเล้งวันละ 1 แก้ว เช้า-เย็นก็ช่วยดูแลดวงตาได้
2. ปวยเล้งดูแลโรคเกี่ยวกับเลือด ทั้งโลหิตจาง ห้ามเลือด รักษาอาการเลือกกำเดาออก และเลือดออกตามไรฟัน เพราะปวยเล้งมีทั้งเหล็ก วิตามินซี โฟเลต สารคลอโรฟิลล์ในระดับสูง ซึ่งมีส่วนในการสร้างเม็ดเลือดแดงและบำรุงเลือด รวมถึงสร้างเกล็ดเลือด
3. ปวยเล้งช่วยระบบย่อย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ เนื่องจากปวยเล้งเป็นผักที่มีเส้นใยอาหารชนิดดี จึงช่วยรักษาโรคท้องผูกและโรคริดสีดวงทวารและการสะสมความร้อนในกระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้หากถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปวยเล้งก็เข้าไปควบคุม บรรเทาอาการและฟื้นฟูสภาพผิดปกติในลำไส้ใหญ่ รวมถึงช่วยห้ามเลือดแผลในลำไส้ได้
4. ว่าที่คุณแม่กินปวยเล้งส่งต่อประโยชน์ไปถึงลูก เพราะปวยเล้งมีโฟเลตหรือวิตามินบี12 สูง จึงเหมาะกับว่าที่คุณแม่มากๆ เพราะช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดส่งผลให้เกิดการป้องกันทารกในครรภ์ให้รอดปลอดภัยจากโรคกระดูกสันหลังโหว่ในเด็กทารกแรกเกิด และยังช่วยในเรื่องพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย
5. ความดันสูงต้องกินปวยเล้ง เพราะโพแทสเซียมในปวยเล้งช่วยควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติ
6. ปวยเล้งป้องกันโรคมะเร็งได้ เพราะมีสารอาหารกลุ่มแคโรทีนอยด์เข้มข้น มีสารเบต้าแคโรทีน (จากความเขียว) มีสารลูทีน (lutein) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ เพราะอนุมูลอิสระคือสาเหตุการเกิดมะเร็ง
7. คอลเลสเตอรอลในเลือดสูงต้องกินปวยเล้ง เพราะในปวยเล้งมีสารซาโปนิน เป็นสารที่ขจัดโคเลสเตอรอลในเลือดโดยเฉพาะ
8. ปวยเล้งช่วยรักษาโรคเบาหวาน เพราะในปวยเล้งมีคุณสมบัติกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งสารอินซูลินฮอร์โมนได้เป็นอย่างดี จึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้
9. ปวยเล้งช่วยบำรุงสมอง มีงานวิจัยจาก Brigham and Women’s Hospital ประเทศสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า ช่วยชะลออาการสมองเสื่อมในคนสูงอายุ จึงมีส่วนในการช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ได้
ไม่ว่าปวยเล้งจะมีประโยชน์มาเพียงใด แต่การกินปวยเล้งก็ยังคงต้องกินแต่พอดี และกินให้เหมาะกับแต่ละคนด้วย โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเกาต์และโรคนิ่ว ควรหลีกเลี่ยงการกินปวยเล้งหรือไม่กินมากเกินไป เพราะปวยเล้งมีกรดออกซาลิคอยู่มาก เมื่อรวมตัวกับแคลเซียมอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่วได้ และอาจทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็ก และโฟเลตได้น้อยลง นอกจากนี้ยังมีกรดยูริกหรือทำให้อาการของโรคเกาต์แย่ลงได้
แต่หากต้องการลดปริมาณกรดออกซาลิคก็สามารถทำได้ โดยนำไปลวกน้ำทิ้งก่อน 1 ครั้งแล้วจึงนำมาปรุงอาหารต่อ วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณกรดออกซาลิคได้มากถึง 80%
---------------------------------------
ผักปวยเล้ง 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
- พลังงาน 23 กิโลแคลอรี
- คารโบไฮเดรต 3.63 กรัม
- โปรตีน 2.86 กรัม
- ไขมัน 0.39 กรัม
- ไฟเบอร์ 2.2 กรัม
- โฟเลต 194 ไมโครกรัม
- ไนอะซิน 0.724 มิลลิกรัม
- วิตามิน เอ 9,377 ยูนิต
- วิตามิน ซี 28.1 มิลลิกรัม
- วิตามิน อี 2.03 มิลลิกรัม
- วิตามิน เค 482.9 ไมโครกรัม
- โซเดียม 79 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 558 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 99 มิลลิกรัม
- ทองแดง 0.130 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 2.71 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 79 มิลลิกรัม
- แมงกานีส 0.897 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.53 มิลลิกรัม