แบบไหนจึงจะเรียกได้ว่าเป็นผักปลอดภัย? เชื่อว่าประโยคคำถามแบบนี้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภคหลายคนที่ต้องการมั่นใจในผักสดที่เลือกซื้อ ด้วยเหตุนี้เอง ‘เค.ซี.เฟรช (KC Fresh)’ จึงขอพาทุกคนไปดูกระบวนการผลิตผักให้ปลอดภัยกันถึงฟาร์ม
และในครั้งนี้เราจะพาไปที่ฟาร์มผักบุ้งจีนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ บ้านห้วยพระ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นผู้ปลูกผักบุ้งรายใหญ่ให้กับ เค.ซี.เฟรช และเป็นฟาร์มที่ผ่านการขอรับรองตามมาตรฐาน GAP และ ThaiGAP จนเข้าสู่กระบวนการสุ่มตรวจคุณภาพและสารเคมี ล้าง คัด และ ตัดแต่งตามมาตรฐานระบบ GMP, HACCP และ BRC Food ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า เป็นผักปลอดภัย
โดยกระบวนการผลิตผักให้ปลอดภัยนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ในฟาร์มปลูก กับปัจจัยหลักอย่างพื้นที่เพาะปลูกที่มี ‘ดิน’ เป็นปัจจัยนำร่องสู่ความปลอดภัย
‘ดิน’ ปัจจัยเริ่มต้นนำร่องสู่ความปลอดภัย
เกษตรกรผู้ปลูกผักบุ้งจีนจะต้องมีพื้นที่เพาะปลูก 3 แปลง เพื่อใช้หมุนเวียนการปลูก เนื่องจากหากปลูกในพื้นที่เดียวกันซ้ำๆ นอกจากจะทำให้แร่ธาตุในดินลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของโรคและแมลงรบกวนได้ โดยเกษตรกรจะเริ่มปลูกจากแปลงที่ 1 เพียงแปลงเดียว และพักแปลงที่ 2-3 ไว้ เมื่อแปลงที่ 1 ผ่านการเก็บเกี่ยวแล้ว จึงเริ่มปลูกแปลงที่ 2 และพักแปลงที่ 1 และ 3 ไว้ เมื่อแปลงที่ 2 ผ่านการเก็บเกี่ยวแล้ว จึงเริ่มปลูกแปลงที่ 3 และพักแปลงที่ 1 และ 2 ไว้ ซึ่งทำให้แต่ละแปลงมีช่วงเวลาพักแปลงอยู่ที่ 2 รอบการเก็บเกี่ยวนั่นเอง
ทั้งนี้ ขณะที่อยู่ในช่วงพักแปลง จะมีการกลับดิน เพื่อให้แสงแดดช่วยในการเสื่อมสลายของดิน ทำให้โอกาสที่จะเจอเชื้อในดินจะน้อยลง และมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการหว่านเมล็ดพันธุ์ เช่นปอเทืองหรือถั่ว เพื่อเสริมธาตุอาหารในดิน รวมถึงมีการตรวจคุณภาพดินประจำปี เพื่อเช็คว่า ดินยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ในการเพาะปลูกหรือไม่
‘เมล็ดพันธุ์’ หัวใจหลักที่คัดพิเศษ
เมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนของ เค.ซี. เฟรช คัดเลือกจากบริษัทที่มีใบรับรองและการันตีในเรื่องเปอเซนต์การงอก 90% และไม่มี GMO ซึ่งการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น จะส่งผลถึงความแข็งแรงของต้นและมีความทนทานต่อโรคสูง ทำให้ใช้สารเคมีลดน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการเริ่มต้นปลูกผักปลอดภัย
‘น้ำ’ ตัวแปรสำคัญที่ขาดไม่ได้
ปัจจัยสู่ความเป็นผักปลอดภัยเรื่องที่ 3 ได้แก่ น้ำ โดยหลังการหว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปในแปลงแล้ว ในช่วง 7-10 วันแรก จะให้น้ำประมาณ 10 นาทีต่อครั้งทุก 30-45 นาที เพื่อให้เมล็ดพันธุ์เกิดการงอกได้เร็วขึ้น โดยน้ำที่ใช้ในแปลงปลูก มีการตรวจสอบตามมาตรฐานของ ThaiGAP เพื่อหาโลหะหนัก เชื้อโรคตกค้าง และต้องเป็นแหล่งน้ำที่ไม่ผ่านฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งพื้นที่ปลูกผักบุ้งจีนของ เค.ซี. เฟรช เป็นพื้นที่ปลูกในชุมชนในลักษณะฟาร์มเปิด แม้จะใช้แหล่งน้ำร่วมกันกับชุมชน แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนในการดูแลความปลอดภัยของแหล่งน้ำมาตลอด
‘สารเคมี’ ตัวช่วยเฉพาะกรณี
โดยปกติแล้ว ผักบุ้งจีน ของ เค.ซี. เฟรช จะไม่มีแผนการฉีดพ่น แต่หากตรวจพบโรคหรือแมลงเกิดขึ้น จึงจะมีแผนการฉีดพ่นเกิดขึ้น โดยสารเคมีที่เลือกใช้เป็นสารเคมีชนิดและปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์ที่ประเทศคู่ค้าแต่ละประเทศกำหนดและอนุญาตให้ใช้ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมมาตรฐานเดียวกันทั้งการจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ
ทั้งนี้ ผักบุ้งจีนของ เค.ซี. เฟรช เป็นกลุ่มผักปลอดภัยจากสารพิษ จึงต้องมีการเว้นระยะให้ปลอดภัย โดยนับตามอายุวันของยา เช่นเว้นระยะ 7 วันหลังการฉีดพ่นจึงเก็บเกี่ยวได้ และมีห้องเก็บสารเคมีเป็นสต๊อกกลาง เพื่อเฉลี่ยใช้ในกลุ่มเกษตรกร จึงช่วยลดปัญหาความเสื่อมสลายหรือหมดอายุของยาได้ด้วย
‘อุปกรณ์การเก็บเกี่ยว’ การันตีความสะอาด
นอกจากถุงมือที่เกษตรกรทุกคนต้องใส่แล้ว ยังมีมีดสำหรับตัดและตะกร้าสำหรับบรรจุที่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคก่อนนำมาใช้งาน โดยมีดที่ใช้ตัดจะผ่านการจุ่มล้างทำความสะอาดด้วยน้ำคลอลีนก่อนนำมาตัดผักบุ้งในแปลงปลูก ซึ่งหากเกษตรกรออกจากแปลงปลูกเมื่อไหร่ การกลับเข้าไปตัดผักอีกครั้ง มีดที่ว่าต้องผ่านการจุ่มล้างทำความสะอาดใหม่ทุกครั้ง และการตัดผักบุ้ง จะมีหลักอยู่ว่า จะต้องตัดโดยวัดขึ้นมาจากระยะราก 5-10 เซนติเมตร เพื่อเลี่ยงไม่ให้ผักบุ้งปนเปื้อนดินปลูก
สำหรับตะกร้าบรรจุ มีหลักการใช้งานคือ ไม่บรรจุจนล้นตะกร้า และตะกร้าทุกใบจะผ่านการทำความสะอาดด้วยการฉีดฆ่าเชื้อรายวันและเก็บไว้ที่จุดเก็บตะกร้าเท่านั้น เมื่อเกษตรกรต้องการใช้งาน จึงมาเบิกใช้งานตามจำนวนที่พอดีกับปริมาณผักบุ้งจีนที่ต้องการ
หลังการเก็บเกี่ยวผักบุ้งจีนจากฟาร์มเรียบร้อยแล้ว จะส่งผักบุ้งจีนทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการล้าง ซึ่งจะล้าง 2 ครั้ง โดยแช่ในน้ำคลอรีนเจือจาง 5 นาทีต่ออ่าง แล้วนำเข้าสู่กระบวนการคัดแยกใบช้ำใบเสียออก ก่อนจะนำไปเข้าบรรจุภัณฑ์ และส่งต่อไปยังห้องควบคุมเชื้อเพื่อรอการจัดจำหน่าย โดยจะมีคิวซีคอยตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งก่อนถึงแหล่งจำหน่าย