‘กระเทียม’ กินให้เป็นยาก็ได้นะ

กระเทียม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium sativum จัดเป็นพืชสมุนไพรในกลุ่มเครื่องเทศที่มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณทางยาที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ วันนี้ KC Fresh จึงสรุปเรื่องราวความดีด้านโภชนาการและการเป็นยาของกระเทียมมาฝากกันค่ะ

กระเทียมสด ประกอบด้วยสารประกอบที่มีกำมะถัน คือ อัลลิซิน, อะโจอีน , ไดอะลิลโพลีซัลไฟด์ส์ , ไวนิลไดไทอีน ไวนิลไดไทอีนส์ , เอส-แอลลิลซิสเตอีนส์ และเอนไซม์ ซาโปนินและฟลาโวนอยด์ โดยสารสำคัญเหล่านี้จะเก็บกักอยู่ในเซลล์และปล่อยออกมาเมื่อกระเทียมถูกสับ บด หรือเคี้ยวกิน

ส่วนความเผ็ดร้อนและกลิ่นกระเทียมที่หลายคนสงสัยว่าคืออะไร มาจากไหน ขอเฉลยตรงนี้ว่า มันคือ เอนไซม์ที่เก็บไว้ในเซลล์ vacuoles ของกระเทียมค่ะ

ทีนี้มาดูประโยชน์ทางยาจากกระเทียมกันบ้าง ซึ่งว่ากันว่าในสมัยโบราณ เมื่อชาวจีนต้องเดินทางไกลจะพกกระเทียมไปด้วย เผื่อว่าที่ต้องกินน้ำแล้วกังวลว่า น้ำนั้นไม่สะอาดก็จะเคี้ยวกระเทียมแล้วพ่นลงในน้ำ สักพักจึงดื่มน้ำนั้น เหตุผลที่ทำแบบนี้เพราะกระเทียมมีสรรพคุณฆ่าเชื้ออ่อนๆ นั่นเองค่ะ

นอกจากนี้ คนโบราณจะใช้กระเทียมเพื่อหวังผลที่การรักษาฟื้นฟู คือ ช่วยขับเสลด แก้ปอดบวม วัณโรค แก้หืด รวมถึงโขลกแล้วนำไปสระผมเพื่อป้องกันผมหงอก หรือไม่ก็โขลกแล้วนำมาผสมกับน้ำส้มใช้กวาดคอ แก้คออักเสบ แก้เสียงแหบแห้งอีกด้วย

เมื่อมาถึงปัจจุบัน กระเทียมถูกใช้แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้น้ำลายเหนียว ขับเสมหะ และใช้ภายนอกโดยนำกระเทียมฝาน ถู ทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนบ่อยๆ ช่วยแก้เชื้อราได้

ในทางการแพทย์ล้านนา ยังมีสูตรการใช้กระเทียมร่วมกับหอมแดง โดยใช้เป็นส่วนผสมในการทำยาลูกกลอน กินเพื่อขับลม และยังทำในรูปยาหลิ้ม ซึ่งเป็นยารูปแบบรีๆ สีดำที่แข็งกว่ายาลูกกลอนปกติ โดยจะค่อยๆ เคี้ยวทีละน้อยก่อนกลืนลงท้องช่วยบรรเทาอาการท้องอืด หรืออาจจะนำยาที่ว่านี้ไปฝนลงน้ำแล้วค่อยๆ กินเมื่อมีอาการ โดยกินตอนค่ำคืนหรือระหว่างวัน

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะคนล้านนายังใช้กระเทียมในตำรับยาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นใช้ทำยาบำรุงเลือด ยาถ่ายลม ยาแก้ไอวัณโรค ยาแก้อาเจียนและท้องเสีย  ยาเลือดละลาย ฯลฯ โดยกระเทียมในยาล้านนา มักใช้ในยาที่สัมพันธ์กับระบบลมและไฟ แก้อาการอาหารไม่ย่อย เนื่องจากไฟพร่อง เพิ่มไฟธาตุในการย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหารได้ดี

 

คุณค่าทางโภชนาการ : กระเทียม 100 กรัม

  • ให้พลังงาน 149 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 33.06 กรัม
  • น้ำตาล 1 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 2.1 กรัม
  • ไขมัน 0.5 กรัม
  • โปรตีน 6.36 กรัม
  • ไทอามิน (บี 1) 0.2 มิลลิกรัม
  • ไรโบฟวาวิน (บี 2) 0.11 มิลลิกรัม
  • ไนอะซิน (บี 3) 0.7 มิลลิกรัม
  • แพนโธทีนิก แอซิด (บี 5) 0. มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 181 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.7 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม
  • แมงกานิส 1.672 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 153 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 401 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 17 มิลลิกรัม
  • น้ำ 59 กรัม
  • วิตามินบี 6 1.2350 มิลลิกรัม
  • โฟเลต (บี 9) 3 ไมโครกรัม
  • โคลีน 23.2 มิลลิกรัม
  • วิตามิน ซี 31.2 มิลลิกรัม
  • เซเลเนียม 14.2 ไมโครกรัม

 

ข้อมูล : ศูนย์สารนิเทศทางอาหาร – สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และ มติชนสุดสัปดาห์