มะละกอ “สุก” และ “ดิบ” กินได้ทั้งนั้นถ้ากินถูกตามตำรา

หนึ่งในไม้ผลที่กินได้ทั้งแบบสุกและแบบดิบ แถมเป็นไม้ผลสุดฮิตที่หากินได้ตลอดปีไม่มีวันหยุด คือ  มะละกอ แต่ก็มีบางคนสงสัยว่า มะละกอนั้น กินแบบสุกหรือกินแบบดิบ กินแบบไหนให้ประโยชน์อย่างไร ถ้าอย่างนั้น ไปหาคำตอบกันไหมคะ

คนอีสานเรียกมะละกอว่า “หมากหุ่ง” เรียกแบบชื่อเต็มๆ ก็คือ “หมากหุ่งกินหน่วย”

คำว่า “หุ่ง” เป็นคำภาษาลาว แปลว่า รุ่ง หรือ สว่าง เนื่องจากคนอีสานจะบีบเอาน้ำมันจากเมล็ดละหุ่ง (ทั้งละหุ่งแดงและขาว) มาใส่ถ้วยแล้วใส่ไส้ลงไปเพื่อใช้จุดไฟให้แสงสว่าง ก็เลยพลอยเรียกพืชหน้าตาคล้ายกันที่มียางสีขาวแต่อยู่คนละวงศ์ว่า หมากหุ่ง “กินหน่วย” ซึ่งก็คือ มะละกอ ค่ะ

สำหรับหัวใจสำคัญที่ทำให้มะละกอกลายเป็นไม้ผลที่มีประโยชน์และควรค่าแก่การบริโภคก็คือ สิ่งที่แทรกอยู่ในทุกอณูเนื้อมะละกอนั่นเอง

มะละกอมีเอนไซม์ย่อยโปรตีนที่ชื่อ ‘ปาเปน (papain)’ ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีนในระบบทางเดินอาหารที่มีความสามารถในการทำงานได้ทั้งในสภาวะที่เป็นกรดและด่าง จึงช่วยย่อยโปรตีนไม่ให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ โดยปาเปนมีมากในมะละกอดิบ แต่การใช้ประโยชน์จากเอนไซม์ชนิดนี้จะคุ้มค่าและได้รับแบบเต็มๆ ก็มีข้อแม้อยู่ว่า  จะต้องกินมะละกอที่ดิบแบบไม่ผ่านการปรุงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเอนไซม์ชนิดนี้จะถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อนนั่นเอง  

นอกจากประโยชน์ที่ช่วยเรื่องท้องอืดท้องเฟ้อแล้ว เอนไซม์ปาเปนยังช่วยกำจัดคราบของเสียที่เกาะอยู่ตามเมือกที่เคลือบลำไส้ ช่วยกำจัดเนื้อที่ตายแล้ว และช่วยรักษาแผล จึงเหมาะกับคนที่มีแผลในกระเพาะและลำไส้เล็ก ทั้งยังช่วยขับลมและขับปัสสาวะอีกด้วย

นอกจากนี้ในมะละกอยังมีสารเพคตินที่ทำหน้าที่ดูดน้ำในลำไส้แล้วพองขยายตัวจากเดิมหลายเท่า ทำให้กากอาหารมีมากขึ้นแล้วไปดันผนังลำไส้ กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวถ่ายออกมา อาการท้องผูกก็จะทุเลาลง

ส่วนถ้าใครถามหาแร่ธาตุและวิตามินในมะละกอก็ขอบอกว่ามีไม่น้อยหน้าใคร เพราะมีทั้งวิตามินเอหรือเบต้าแคโรธีน วิตามินซี วิตามินอี ซึ่งเป็นสารช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เป็นตัวการทำให้เกิดโรคสารพัด และเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพ

แล้วมะละกอ ‘สุก’ หรือ ‘ดิบ’ กินแบบไหนดีกว่ากัน?

จากประโยชน?เกริ่นเล่าไปแล้ว จะเห็นว่า มะละกอเป็นไม้ผลที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าที่กินตอนสุกก้ได้ ดิบก็ดี แต่ถ้าชี้แจงแถลงไขลงลึกแบบสรุปง่ายๆ คือ

มะละกอดิบ มีคุณสมบัติในการซับความร้อนดับพิษไข้ในร่างกาย เป็นยาระบายอ่อนๆช่วยย่อยอาหาร ช่วยรักษาและป้องกันกระเพาะอาหารอักเสบ และโรคกระเพาะทั้งหลาย ช่วยขับปัสสาวะ ชะล้างผนังลำไส้ วิตามินซีในมะละกอมีมากขนาดสามารถป้องกันโรคลักปิดลักเปิด หวัดทั้งหลายได้ด้วย ลดอาหารไอ บำรุงกำลัง และช่วยปรับสมดุล

ส่วนมะละกอสุก มีน้ำตาลเยอะ มีสารอาหารเช่นเดียวกับมะละกอดิบ แต่มีเอมไซม์ปาเปนน้อยกว่ามะละกอดิบมากนัก จึงไม่เหมาะที่จะทานบ่อยๆ

ปิดท้ายด้วย คำถามหนึ่งที่ถามเข้ามามากคือ ในระหว่างที่ตั้งครรภ์อยู่นั้น ว่าที่คุณแม่กินมะละกอได้ไหม?

 คำตอบคือ “ได้” แต่ควรเป็นมะละกอสุกในปริมาณที่เหมาะสม เพราะช่วงเป็นมะละกอสุก นอกจากจะมีน้ำตาลในเนื้อมะละกอมากแล้ว ยังอุดมไปด้วยเบตาแคโรทีน โคลีน ใยอาหาร โฟเลต โพแทสเซียม วิตามิน A, B, และ C  มะละกอสุก จึงมีส่วนช่วยแก้ท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์ พร้อมๆ กับช่วยบำรุงน้ำนม และช่วยย่อยอาหาร

 

คุณค่าทางโภชนาการของมะละกอสุก 1 ส่วน (144 กรัมโดยประมาณ)

  • พลังงาน 60 กิโลแคลอรี
  • น้ำ 128 กรัม
  • น้ำตาล 12 กรัม
  • ไฟเบอร์ 2.4 กรัม
  • แคลเซียม 16 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 220 มิลลิกรัม
  • เบต้าแคโรทีน 694 ไมโครกรัม
  • เหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 435 มิลลิกรัม
  • ไทอะนิน 0.04 มิลลิกรัม
  • ไรโบฟลาวิน 0.03 มิลลิกรัม
  • ไนอะซิน 0.3 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 79 มิลลิกรัม