ผักกาดหัว หรือ หัวไชเท้า ก็คือผักเดียวกัน

ตามหัวข้อที่ขึ้นไปว่า ผักกาดหัว หรือ หัวไชเท้า  ก็คือผักเดียวกัน เป็นเรื่องจริงนะคะ เพราะมีชื่อสมุนไพรว่า ‘ผักกาดหัว’ ส่วนที่เราเรียกว่า ‘หัวไชเท้า’ ‘ไชเท้า’ ‘หัวผักกาด’ ‘ไชโป๊ว’ เป็นคำเรียกทั่วไปค่ะ ซึ่งไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร ล้วนมีคุณสมบัติเดียวกัน ดังนี้ค่ะ

บำรุงตับ 

เพราะมีฤทธิ์ป้องกันสารพิษที่เป็นอันตรายต่อตับ และมีการทดลองใช้หัวไชเท้าในการใช้รักษาโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์

ลดความดันโลหิต

หัวไชเท้ามีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเช่น ฟลาโวนอยด์ แทนนิน และอัลคาลอยด์ ที่จะช่วยลดระดับความดันโลหิต และลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ต่ำลงได้

มีส่วนในการช่วยรักษาฝ้า

แค่นำหัวไชเท้ามาล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกแล้วนำมาปั่นให้ละเอียด เติมน้ำมะนาวลงไป 1 ช้อนโต๊ะ ปั่นอีกครั้งจนเข้ากันก็นำมาพอกบริเวณที่เป็นฝ้ากระ 15 นาที แล้วล้างออก ทำเป็นประจำ จะทำให้ฝ้าจางลง ใบหน้าดูขาว เรียบเนียนสม่ำเสมอมากขึ้น

ป้องกันโรคมะเร็ง

พืชที่อยู่ในตระกูลกะหล่ำรวมถึงหัวไชเท้า จะมีสารประกอบบางชนิดที่เมื่อผสมกับน้ำ จะทำให้เกิดสารไอโซไทโอไซยาเนต ซึ่งมีสรรพคุณขจัดสารพิษในร่างกาย ช่วยลดการเกิดเนื้องอก และยังช่วยยับยั้งการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง

กระตุ้นการย่อยอาหาร

ใครจะไปคิดว่าใบหัวไชเท้าที่ตัดทิ้งไปจะมีสรรพคุณกระตุ้นการย่อยอาหารอย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่เกิดจากอาหารไม่ย่อยได้ด้วย

หัวไชเท้าดิบ 100 กรัม มีพลังงาน 14 กิโลแคลอรี่ และมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

  • โปรตีน 1.10 กรัม
  • ไขมัน 0.1 กรัม
  • เส้นใย 1.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 2.63 กรัม
  • แคลเซียม 27 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 9 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 28 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 280 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 16 มิลลิกรัม
  • สังกะสี 0.13 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 29 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 0.1 มิลลิกรัม
  • โฟเลต 14 ไมโครกรัม